วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2560

39.ถั่วลิสง



Image result for ถั่วลิสง



ถั่วลิสง

ถั่วลิสง ชื่อสามัญ Peanut, Groundnut, Earthnut, Goober, Pindar, Monkeynut
ถั่วลิสง ชื่อวิทยาศาสตร์ Arachis hypogaea L. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่วFABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)
ถั่วลิสง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ถั่วคุด (ประจวบคีรีขันธ์), ถั่วดิน (ภาคเหนือ, ภาคอีสาน), ถั่วยิสง ถั่วยี่สง ถั่วลิง (ภาคกลาง), ถั่วใต้ดิน (ภาคใต้), เหลาะฮวยแซ (จีน-แต้จิ๋ว), ถั่วยาสง (หนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล) เป็นต้น
ถั่วลิสงมีถิ่นดั้งเดิมอยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้ ตั้งแต่ลุ่มน้ำอเมซอนไปจนถึงประเทศบราซิล โดยถั่วลิสงในสกุล Arachis สามารถแบ่งออกได้เป็น 19 ชนิด แต่สำหรับสายพันธุ์ที่ปลูกจะมีอยู่เพียงชนิดเดียวคือ Hypogaea ส่วนที่เหลือทั้งหมดจะเป็นสายพันธุ์ป่า
การปลูกถั่วลิสง มีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย แต่จะมีมากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในสถานการณ์ปัจจุบันการผลิตถั่วลิสงนั้นยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ จึงได้มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

สรรพคุณของถั่วลิสง

  1. ช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยในการเจริญเติบโต (เมล็ด)
  2. ช่วยบำรุงสมองและประสาทตา ช่วยเสริมสร้างความจำ และยังมีโคลีนที่ช่วยควบคุมความจำอีกด้วย (เมล็ด)
  3. ช่วยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย (เมล็ด) และช่วยให้ความอบอุ่นแก่ผิวกาย (น้ำมันถั่วลิสง)
  4. ช่วยลดความดันโลหิตสูง (ใบ)โดยใช้ทั้งก้านและใบสดหรือแห้ง (แห้งใช้ประมาณ 30 กรัม ถ้าสดใช้ประมาณ 40 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน (เมล็ด)
  5. ถั่วลิสงมีสารต้านเอนไซม์โปรติเอส มีฤทธิ์ต่อต้านมะเร็ง และมีจีเนสเตอินซึ่งทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงเซลล์มะเร็งตีบลง
  6. ช่วยป้องกันโรคหัวใจ เนื่องจากในถั่วลิสงมีสารที่ช่วยลดปริมาณของไขมันร้าย (LDL) จึงช่วยลดความเสี่ยงของภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือดและภาวะหลอดเลือดแข็งตัวซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจ หากรับประทานเป็นประจำจะช่วยลดโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวได้ถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับประทาน (เมล็ด)
  7. กินถั่วลิสงอ้วนไหม ? ปกติแล้วการรับประทานถั่วจะช่วยลดน้ำหนักและความอ้วนครับ เพราะมีไขมันไม่อิ่มตัวซึ่งทำให้อิ่มท้องนาน ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง และยังช่วยยับยั้งไขมันเลวที่เป็นผลเสียต่อร่างกาย ด้วยการรับประทานแบบดิบ ๆ หรือนำมาต้ม แต่ถ้าหากเป็นถั่วคั่ว ถั่วทอด ถั่วอบ อย่างนี้มันผ่านความร้อนและน้ำมัน ทำให้ไขมันไม่อิ่มตัวที่มีในถั่วลิสงมันหายไป หากรับประทานมาก ๆ ก็ทำให้อ้วนได้ แต่ทั้งนี้ถ้าหากรับประทานแต่พอประมาณก็ไม่อ้วนแน่นอนครับ และมีคำแนะนำว่าไม่ควรรับประทานเกิน 1 กำมือ ถั่วลิสงอุดมไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งเป็นตัวช่วยลดระดับความดันโลหิต ระดับไขมันในเลือด และยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจอีกด้วย (เมล็ด)
  8. ช่วยรักษาโรคเกล็ดเลือดต่ำ ด้วยการนำเปลือกถั่วลิสงประมาณ 10 กรัม ต้มกับน้ำดื่มทุกวัน (เมล็ด)
  9. ช่วยบำรุงไขมันในร่างกาย (เมล็ด)
  10. ช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน และเป็นอาหารที่ดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลินได้ (เมล็ด)
  11. ช่วยบำรุงปอด ช่วยหล่อลื่นปอด รักษาอาการไอแห้งเรื้อรัง ด้วยการใช้เมล็ดแห้งประมาณ 60-100 กรัมนำมาบดชงหรือต้มกิน (เมล็ด)
  12. ช่วยรักษาเยื่อตาอักเสบอย่างเฉียบพลันชนิดที่ติดต่อได้ (ข้อมูลทางคลินิก)
  13. ช่วยแก้อาการไอเรื้อรังและอาการคลื่นไส้ (เมล็ด)
  14. ช่วยรักษาอาการไอกรน ชอบนอนกรนในเด็ก ด้วยการใช้เมล็ดถั่วนำมาต้มใส่น้ำตาลกรวดแล้วรับประทาน (เมล็ด)
  15. ช่วยรักษาอาการนอนละเมออย่างผิดปกติ (ข้อมูลทางคลินิก)
  16. ช่วยระบายท้อง (น้ำมันจากเมล็ด)
  17. ช่วยบำรุงกระเพาะ และในถั่วยังอุดมไปด้วยเส้นใยอาหารที่สามารถละลายน้ำได้ จึงช่วยในขบวนการทำความสะอาดร่างกายแบบเป็นธรรมชาติ(เมล็ด)
  18. ช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหาร (เมล็ด)
  19. ช่วยรักษาโรคบิดแบคทีเรียอย่างเฉียบพลัน (ข้อมูลทางคลินิก)
  20. ช่วยรักษาพยาธิไส้เดือนที่อุดตันในลำไส้ (ข้อมูลทางคลินิก)
  21. ช่วยหล่อลื่นลำไส้ (น้ำมันจากเมล็ด
  22. ถั่วลิสงต้มกับเกลือใช้รับประทานช่วยบรรเทาอาการโรคฝีในท้องได้ (เมล็ด)
  23. ช่วยรักษาโรคตับอักเสบ เป็นดีซ่านอย่างเฉียบพลัน (ข้อมูลทางคลินิก)
  24. สรรพคุณถั่วลิสง เมล็ดช่วยบำรุงม้าม (เมล็ด)
  25. ช่วยห้ามเลือด และรักษาอาการเลือดออกง่ายในโรคฮีโมฟีเลีย (Haemophilia) (ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา)
  26. ใบสดนำมาตำใช้พอกรักษาแผลฟกช้ำ แผลหกล้มจากการกระทบกระแทก และแผลมีหนองเรื้อรัง (ใบ) โดยใช้ทั้งก้านและใบสดหรือแห้ง (แห้งใช้ประมาณ 30 กรัม ถ้าสดใช้ประมาณ 40 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน หรือใช้ภายนอกนำมาตำแล้วพอก
  27. ช่วยแก้อาการปลายเท้าเป็นเหน็บชา (เมล็ด) ให้ใช้เมล็ดที่มีเยื่อประมาณ 100 กรัม ถั่วแดง 100 กรัม และเปลือกของพุทราจีน 100 กรัม แล้วนำทั้งหมดมาต้มรับประทานหลายครั้ง ๆ
  28. ช่วยบำรุงไขข้อ บำรุงเส้นเอ็น (เมล็ด)
  29. น้ำมันจากเมล็ดใช้ถูทาแก้อาการปวดตามข้อและอาการตามกล้ามเนื้อได้ (น้ำมันจากเมล็ด)
  30. ใช้ฉีดเป็นยาสลบ (ข้อมูลทางคลินิก)
  31. น้ำมันจากถั่วลิสงที่ใช้สำหรับเป็นยาฉีด มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคบางชนิดได้เล็กน้อย (ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา)
  32. ช่วยบำรุงน้ำนมสำหรับสตรีหลังคลอดบุตร (เมล็ด) ด้วยการต้มถั่วลิสง 120 กรัมกับขาหมู 1 ขา กินแล้วจะช่วยทำให้มีน้ำนมมากขึ้น
  33. ถั่วลิสงอุดมไปด้วยแมกนีเซียม ซึ่งช่วยรักษาสมดุลของฮอร์โมนเพศ ช่วยในการทำงานของเอนไซม์ต่าง ๆ ในร่างกาย และช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว
  34. เยื่อหุ้มเมล็ดของถั่วลิสงสามารถช่วยยับยั้งการสลายตัวของ Fibrin ได้ และช่วยกระตุ้นกระดูกให้ผลิตเกล็ดเลือด เพิ่มสมรรถภาพในการหดตัวของเส้นเลือดฝอย และช่วยในการห้ามเลือด
  35. จริง ๆ แล้วสรรพคุณถั่วลิสงยังมีมากกว่านี้ครับ แต่ข้อมูลเหล่านั้นยังไม่มีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ เช่น สรรพคุณแก้อาการนอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ลดเสมหะ แก้ไส้เลื่อน ขับระดูขาวของสตรี ลดอาการบวมน้ำจากไต เป็นต้น
  36. ประโยชน์ของถั่วลิสง


    1. ถั่วลิสงเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และเป็นแหล่งของโปรตีนและพลังงาน โดยมีโปรตีนเทียบเท่ากับถั่วแดง ถั่วดำ และถั่วเขียว แต่น้อยกว่าถั่วเหลือง และยังมีกรดอะมิโนอีกหลายชนิดที่จำเป็นต่อร่างกายถั่วลิสงมีสารอาหารมากกว่า 30 ชนิด มีโปรตีนมากกว่าถั่วเปลือกแข็งชนิดอื่น ๆ ให้โซเดียมต่ำ มีไขมันไม่อิ่มตัวน้อย และยังปราศจากคอเลสเตอรอลด้วย
    2. ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารคาวหวานต่าง ๆ เมนูถั่วลิสง เช่น แกงฮังเล น้ำพริกคั่ว ถั่วลิสงต้มกระดูกหมู ถั่วลิสงนึ่งข้าวเหนียวยัดไส้หมูสับ ไก่สามอย่าง เมี่ยงคำ ส้มตำไทย หรือสารพัดน้ำจิ้ม เช่น น้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ น้ำจิ้มมันทอด น้ำพริกเผาทรงเครื่อง น้ำพริกถั่วปลานึ่ง หรือใช้เป็นเครื่องปรุงรสก๋วยเตี๋ยว แหนม อาหารจำพวกยำต่าง ๆ และยังนำไปผสมกับข้าวนึ่งทำเป็นข้าวต้มมัดใส่ข้าววิตู ข้าวหลามข้าวเม่า หรือทำเป็นไส้ขนมชนิดต่าง ๆ เช่น ขนมไส้เทียน ถั่วลิสงคั่ว ถั่วลิสงทอด ถั่วลิสงต้ม ถั่วลิสงป่น ถั่วลิสงบด ถั่วลิสงชุบแป้งทอด ถั่วตัด ถั่วตุ๊บตั๊บ ถั่วกระจก ถั่วลิสงเคลือบรสต่าง ๆ ถั่วลิสงทอดคลุกเนย เนยถั่วลิสงแป้งถั่วลิสง ใช้ผสมในลูกกวาด ช็อกโกแลต เป็นต้น
    3. ถั่วลิสงสามารถนำมาเพาะเป็นถั่วงอกได้ เช่นเดียวกับถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ และถั่นลันเตา แต่จะไม่เป็นที่นิยมมากนัก
    4. ลำต้นและใบนำมาใช้ทำปุ๋ยหรือใช้เลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องได้ เช่น วัว แพะ แกะ เป็นต้น ส่วนกากที่เหลือจากการสกัดน้ำมันก็สามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดี ส่วนเปลือกฝักใช้ทำเป็นปุ๋ยหมัก ใช้เพาะเห็ด ทำเชื้อเพลิง ใช้คลุมดินปลูกต้นไม้ หรือใส่ในกระถางต้นไม้เพื่อเป็นปุ๋ยและรักษาความชื้น หรือนำมาใช้ผสมกับกากน้ำตาลเพื่อใช้เป็นอาหารวัว นอกจากนี้ยังใช้เป็นส่วนผสมในวัสดุก่อสร้างโดยใช้ผสมในพลาสติก คอนกรีต แผ่นพื้น ได้เช่นเดียวกับเศษไม้ได้อีกด้วยและทำเป็นยาฆ่าแมลงได้อีกด้วย
    5. ถั่วลิสงสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย
    6. เนื่องจากถั่วลิสงมีน้ำมันประมาณ 47% จึงนิยมนำเมล็ดของถั่วของลิสงไปใช้ในอุตสาหกรรมสกัดน้ำมัน
    7. ทำเป็นน้ำมันสำหรับทอดอาหาร มีคุณสมบัติช่วยลดคอเลสเตอรอล และไม่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอนุมูลอิสระ แต่มีข้อเสียคือเป็นน้ำมันที่เหม็นหืนง่าย ใช้ทอดในความร้อนสูง ๆ ไม่ได้ แต่ใช้ผัด ทอด ต้ม ทำน้ำสลัดได้ตามปกติ
    8. นอกจากนี้ยังใช้ในอุตสาหกรรมสบู่หรือแชมพู อุตสาหกรรมปั่นด้าย ใช้ทำน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องจักร
    9. ใช้เป็นตัวทำละลายของยาฉีดที่ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อบางชนิด หรือนำมาใช้ทำปลาสเตอร์ ทำเป็นยาเตรียมพวก Liniments
    10. ประโยชน์ของเนยถั่วลิสง ที่น่าสนใจได้แก่ การนำมาทำเป็นน้ำมันหล่อลื่น แก้ปัญหาเรื่องสนิมขึ้นหรือชิ้นส่วนอะไหล่ติดขัด ใช้สอดไส้เคลือบเม็ดยาเพื่อให้สุนัขสามารถกินยาได้ง่าย ๆ (เพราะเป็นอาหารโปรดของมัน) หรือนำมาใช้แทนเนยทั่วไปได้ หรือนำมาใช้ในการล่อหนู (เนยทั่วไปทำไม่ได้ แต่เนยถั่วลิสงทำได้) หรือนำมาใช้ในการลอกฉลากกาว ด้วยการใช้เนยถั่วลิสงถูให้ทั่วฉลาก แล้วอีกด้วยผ้า ฉลากกาวที่ติดแน่นก็จะหลุดออกมาโดยง่าย หรือนำมาช่วยดับกลิ่นคาวปลาตอนทอดปลา หรือนำมาใช้ทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ หรือการนำมาใช้ในการกำจัดคราบกากของหมากฝรั่งให้ออกอย่างง่ายดาย และยังสามารถนำมาใช้แทนเจลโกนหนวดได้เป็นอย่างดี หากครีมโกนหนวดหมดโดยกะทันหัน

โทษของถั่วลิสง


  • ถั่วลิสงเป็นอาหารกลุ่มเสี่ยงที่มักตรวจพบสารพิษซึ่งเกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งที่เรียกว่า สารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ซึ่งเป็นสารพิษร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้บริโภคโดยตรงอย่างเฉียบพลัน (รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงด้วย) หากได้รับในปริมาณมากอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็งที่ตับ หัวใจ และสมองบวม อาจทำให้เกิดอาการชัก หายใจลำบาก และตับถูกทำลาย (ในประเทศไทยกำหนดให้สารชนิดนี้ไม่เกิน 20 ppb) โดยสารพิษชนิดนี้สามารถปนเปื้อนมาตั้งแต่ในช่วงการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การตากแห้ง รวมไปถึงการเก็บรักษาก่อนถึงมือผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน เชื้อราชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีมาก และการปนเปื้อนของสารก็จะเริ่มตั้งแต่ในช่วงการสร้างฝัก
  • สำหรับบางรายอาจมีอาการแพ้ถั่วลิสงได้ ถ้าหากไม่รุนแรง ก็อาจจะเป็นผื่นคันตามตัว เป็นลมพิษ ซึ่งกรณีนี้กินยาแก้แพ้ก็ช่วยได้ รวมไปถึงอาจมีอาการอาเจียน ไอหอบ หายใจไม่สะดวก และมีอาการปวดท้อง แต่ถ้าหากมีอาการแพ้ขั้นรุนแรงอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้เลย โดยคนไข้อาจมีอาการตาบวม ปากบวม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ความดันตก จนเกิดภาวะช็อกและหมดสติ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาในทันที ซึ่งจากการสำรวจทั้งในและต่างประเทศพบว่าใน 1,000 คน อาจมีผู้แพ้ถั่วลิสงประมาณ 2-14 คน และมีผู้เสียชีวิตจากการแพ้ถั่วลิสงมากกว่า 100 คนต่อปี ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากภูมิคุ้มกันของบุคคลแปรปรวน ทำให้ไม่สามารถรับโปรตีนจากถั่วลิสงที่เป็นอาหารทั่วไปของคนธรรมดาได้ จนเกิดการแพ้โปรตีนในถั่วลิสง แต่การแพ้ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องแพ้โปรตีนจากแหล่งอาหารอื่นด้วย เพราะอาหารแต่ละอย่างมีโครงสร้างไม่เหมือนกัน (รศ.พญ.พรรณทิพา ฉัตรชาตรี หน่วยโรคภูมิแพ้ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
  • ผู้ที่มีอาการของโรคที่เกิดจากความชื้นเย็น หรือเมื่ออากาศเย็นและมีความชื้นจะทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้ง่าย ทำให้เลือดไหลเวียนในร่างกายได้ไม่ดี หรือมีอาการปวดตามกล้ามเนื้อ มีอาการปวดตึงตามข้อต่อ หากมีอาการรุนแรงหรือกำลังท้องเสีย ไม่ควรรับประทานถั่วลิสงเด็ดขาด
  • ถั่วลิสงมีสารพิวรีน (Purine) ในระดับปานกลาง ผู้ป่วยโรคเกาต์ควรรับประทานในปริมาณที่จำกัด เพราะสารดังกล่าวอาจเป็นตัวกระตุ้นทำให้อาการของข้ออักเสบกำเริบขึ้นได้

คำแนะนำในการรับประทานถั่วลิสง


  • สารอะฟลาทอกซินในถั่วลิสงจะเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีความชื้น และสารพิษชนิดนี้ยังเป็นสารที่ทนความร้อนได้สูงถึง 260-268 องศาเซลเซียสจึงจะสลายตัว แต่สารดังกล่าวยังสามารถเสื่อมสลายไปได้ด้วยการใช้แสงอัลตร้าไวโอเลต แสงแดด และรังสีแกมมา รวมไปถึงในสภาพที่เป็นด่างและถูกทำลายได้ด้วยคลอรีน การหุงต้มด้วยวิธีธรรมดาจะไม่สามารถทำลายพิษดังกล่าวได้ ดังนั้นควรเก็บไว้ในที่แห้งและเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดฝาได้สนิท
  • การสังเกตเชื้อราสามารถทำได้ในเบื้องต้นด้วยตาเปล่า ถ้าหากถั่วลิสงคั่วป่นที่ซื้อมามีสีเขียวอมเหลือง มีสีเขียวเข้ม หรือมีสีที่ผิดไปจากปกติ ก็ไม่ควรนำมารับประทาน และไม่ควรเก็บถั่วลิสงไว้นานกว่า 1 เดือนเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา
  • ทางที่ดีที่สุดก็คือการนำถั่วลิสงมาคั่วรับประทานเอง โดยเลือกกินเฉพาะถั่วที่ยังใหม่ ๆ หรือถั่วที่ไม่มีสีคล้ำและไม่เหลือง และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วลิสงและถั่วลิสงป่นที่มีสีเหลืองคล้ำหรือมีสีดำ หรือมีกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นอับ
  • การบริโภคถั่วเพื่อการลดน้ำหนักในระยะยาว ควรรับประทานแต่พอดีและจำกัดการรับประทานถั่วเปลือกแข็งเพียงวันละประมาณ 30 กรัมต่อวัน

สำหรับถั่วลิสงก็มีคุณและโทษอยู่ในตัวของมันยังไงก็เลือกรับประทานให้เหมาะสมด้วยนะคะ



ที่มา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

42.ใบเตย เตย เตย  หรือ  เตยหอม   ชื่อสามัญ Pandan leaves, Fragrant pandan, Pandom wangi เตย ชื่อวิทยาศาสตร์  Pandanus amarylli...