![Image result for หญ้าคา](https://medthai.com/wp-content/uploads/2014/01/%E0%B9%83%E0%B8%9A%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2.jpg)
หญ้าคา ชื่อสามัญ Alang-alang, Blady grass (หญ้าใบมีด), Cogongrass, Japanese bloodgrass, Kunai grass, Lalang, Thatch grass
หญ้าคา ชื่อวิทยาศาสตร์ Imperata cylindrica (L.) Raeusch. จัดอยู่ในวงศ์หญ้า(POACEAE หรือGRAMINEAE)
สมุนไพรหญ้าคา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้าหลวง หญ้าคา (ทั่วไป), สาแล (มลายู-ยะลา-ตานี), กะหี่ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), บร่อง (ปะหล่อง), ทรูล (ลั้วะ), ลาลาง ลาแล (มะลายู), แปะเม่ากึง เตี่ยมเซากึง (จีน-แต้จิ๋ว), คา แฝกคา ลาแล เก้อฮี เป็นต้น
หมายเหตุ : หญ้าคาเป็นพืชคนละชนิดกันกับหญ้าแฝก (Chrysopogon zizanioides (L.) Roberty)
ลักษณะของหญ้าคา
จัดเป็นพืชจำพวกหญ้า มีลำต้นอยู่ใต้ดินเป็นเส้นกลมสีขาวทอดยาว มีข้อชัดเจน ผิวเรียบ หรืออาจมีขนอยู่บ้างเล็กน้อย สามารถแตกกิ่งก้านสาขา เลื้อยแผ่และงอกไปเป็นกอใหม่ ๆ ได้มากมายหลายกอ โดยหญ้าคาจัดเป็นวัชพืชที่ชอบแสงแดดและมีความทนทานสูงมาก เผากำจัดหรือทำลายได้ยาก ยิ่งเผาทำลายก็เหมือนไปช่วยกระตุ้นให้มันงอกมากขึ้น ทำให้ออกดอกแพร่พันธุ์มากยิ่งขึ้นไปอีก จึงกลายเป็นวัชพืชที่ลุกลามไปตามท้องไร่หรือพื้นที่ต่าง ๆ และกำจัดได้ยากชนิดหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นวัชพืชที่แก่งแย่งธาตุอาหารและน้ำกับพืชที่ปลูก และยังปลดปล่อยสารธรรมชาติบางชนิดที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของพืชชนิดอื่น ๆ ซึ่งสามารถพบได้ตามท้องทุ่งทั่วไป ตามพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ตามหุบเขา และตามริมทางทั่วไป ซึ่งโดยทั่วไปแล้วพืชชนิดนี้จะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด แต่ก็ยังสามารถขยายพันธุ์ด้วยลำต้นใต้ดินได้ด้วยเช่นกัน
การนำหญ้าคามาใช้ประโยชน์ในแพทย์แผนโบราณ
นำหญ้าคาแห้ง 1 กำมือ มาบดเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นนำไปต้มน้ำ และกรองเอาแต่น้ำ นำมาดื่มก่อนอาหาร 1 ถ้วยน้ำชา จะช่วยขับปัสสาวะ แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ ช่วยรักษาการอักเสบที่ทางเดินปัสสาวะ บำรุงไต แก้โรคดีซ่านแก้อ่อนเพลีย ช่วยเจริญอาหาร ช่วยขับปัสสาวะ แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ ช่วยรักษาการอักเสบที่ทางเดินปัสสาวะ บำรุงไต แก้โรคดีซ่าน แก้อ่อนเพลีย ช่วยเจริญอาหาร
สรรพคุณของหญ้าคา
- ในประเทศจีนใช้หญ้าคาเป็นยาบำรุงกำลังหลังจากการฟื้นไข้ และยังใช้เป็นยาห้ามเลือดและลดอาการไข้อีกด้วย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยรักษาความดันโลหิตสูง (ราก)
- ผลใช้กินเป็นยาสงบประสาท (ผล)
- รากใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยารักษาโรคตานขโมย (ราก)
- รากช่วยแก้ไข้ แก้อาการไอ (ราก) ส่วนดอกช่วยแก้อาการไอ (ดอก)
- ชาวซูลูใช้หญ้าคาเพื่อช่วยแก้อาการสะอึก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยแก้โรคมะเร็งคอ (ต้น)
- ช่วยแก้หอบ ด้วยการใช้รากสดประมาณ 1 กำมือและเปลือกของต้นหม่อนอย่างละเท่ากัน ใส่ในน้ำ 2 ชามแล้วต้มจนเหลือ 1 ชาม แล้วเอาน้ำที่ได้มากิน (ราก)9.
- รากหญ้าคาช่วยแก้เลือดกำเดาไหล เลือดกำเดาออกง่ายหรือออกมาไม่ค่อยหยุด ด้วยการใช้ช่อดอกแห้งประมาณ 15 กรัม และจมูกหมู 1 อัน นำมาต้มให้เดือดประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้รับประทานหลังอาหารหลายครั้ง อาจทำให้หายขาดได้ หรือจะใช้ขน (ดอกแก่) นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะใช้รากแห้งบดเป็นผงประมาณ 2.6 กรัม นำมาผสมกับน้ำซาวข้าวใช้กิน หรือจะใช้รากสดประมาณ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มในขณะที่เลือดกำเดาไหล หรือจะใช้น้ำคั้นสดดื่มกินประมาณ 1 ถ้วยชา (15 มิลลิกรัม) ก็ได้ และถ้าจะใช้เป็นยาห้ามเลือดกำเดาก็ให้ใช้ช่อดอกหรือขนนำมาตำแล้วอุดที่รูจมูก (ดอก, ขน (ดอกแก่), ราก)
- ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด (ช่อดอก, ราก)11.
- ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 30 กรัม นำมาต้มเอาแต่น้ำดื่มเป็นประจำ (ราก)
- ช่วยแก้ปัสสาวะขัด ด้วยการใช้รากสดประมาณ 500 กรัม นำมาลอกเปลือกที่อยู่ระหว่างข้อออก แล้วหั่นเป็นฝอยใส่น้ำ 4 ถ้วยใหญ่ และต้มให้เดือดประมาณ 10 นาทีจนให้รากจมน้ำหมด หลังจากนั้นให้แยกเอากากออก ใช้รินกินขณะยังอุ่น ๆ ประมาณครั้งละครึ่งถ้วย วันละ 5-6 ครั้ง และกลางคืนอีก 2-3 ครั้ง กินต่อเนื่องกันจนครบ 12 ชั่วโมง แล้วปัสสาวะจะถูกขับออกมามากขึ้น (ราก)
- ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นเลือด ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 30 กรัมแล้วนำมาต้มกับน้ำกิน หรือจะผสมกับรากบัว (ประมาณ 15 กรัม) ร่วมด้วย แล้วนำมาต้มกับน้ำกินก็ได้เช่นกัน (ราก)
- ช่วยแก้พิษอักเสบในกระเพาะอาหาร (ราก)
- ช่วยแก้โรคมะเร็งในลำไส้ (ดอก)
- ช่วยแก้บิด (น้ำต้มจากรากสด)
- ช่วยแก้อุจจาระเป็นเลือด (ดอก ขน (ดอกแก่)
- ช่วยแก้ริดสีดวงทวารต่าง ๆ (ดอก) ส่วนในประเทศกัมพูชา ใช้หญ้าคาเป็นยาสำหรับรมแก้ริดสีดวงทวาร (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- รากและเหง้าหญ้าคาใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัด (ราก)
- ช่วยแก้อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แก้พิษอักเสบในกระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะแดง (ราก ดอก)
- ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือด ด้วยการใช้รากหญ้าคาประมาณ 1 กำมือ ใส่ในน้ำ 1 ถ้วยใหญ่ แล้วต้มจนเหลือ 1 ถ้วยชา (ประมาณ 15 มิลลิเมตร) ใช้รินกินขณะยังอุ่น ๆ หรือจะใช้รากแห้ง เมล็ดผักกาดน้ำอย่างละ 30 กรัม และน้ำตาลทราย 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินก็ได้ แต่หากนำมาใช้กับสัตว์ เช่น วัว ม้า ก็ให้ใช้รากสดประมาณ 120 กรัม ผสมคนล้างน้ำด่าง แล้วล้างให้หมดด่าง นำมาตากแห้งเผาเป็นถ่านให้ได้ประมาณ 30 กรัม และใช้ใบหญ้าขุยไม้ไผ่สดประมาณ 120 กรัม นำมาต้มให้สัตว์เลี้ยงกิน (ราก, ขน (ดอกแก่)
- ช่วยแก้อาการปัสสาวะขุ่นเหมือนน้ำนม ด้วยการใช้รากสดประมาณ 250 กรัม ใส่ในน้ำ 2,000 มิลลิเมตร แล้วต้มจนเหลือ 1,200 มิลลิเมตร และใส่น้ำตาลพอสมควร ใช้แบ่งกินประมาณ 3 ครั้งให้หมดภายใน 1 วัน หรือจะใช้กินแทนชาติดต่อกันประมาณ 5-15 วันก็ได้ โดยนับเป็น 1 รอบของการรักษา (ราก)
- ช่วยรักษาปัสสาวะเป็นหนอง ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 15 กรัม ใส่ในน้ำ 250 มิลลิลิตร แล้วต้มจนเหลือ 50 มิลลิลิตร ใช้รินกินขณะยังอุ่นหรือเย็นก็ได้ วันละ 3 ครั้ง (ราก)
- ในฟิลิปปินส์ใช้น้ำต้มจากรากสด ใช้รักษาโรคหนองใน (ราก)
- ช่วยขับระดูขาวของสตรี (ราก)
- ช่วยแก้ประจำเดือนของสตรีมามากเกินไป (ราก)
- ช่วยบำรุงไต แก้ไตอักเสบ ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 30 กรัม ผสมกับเปลือกลูกน้ำเต้า 15 กรัม ดอกเจ๊กกี่อึ้ง 30 กรัม และเหล้าขาวอีก 3 กรัม นำมาต้มเป็นยา ใช้แบ่งกิน 2 ครั้ง วันละ 1 ชุด หรือจะใช้รากสดประมาณ 60-120 กรัม นำมาต้มเป็นยา ใช้แบ่งกิน 2-3 ครั้ง ให้หมดภายใน 1 วัน แต่ถ้าหากนำมาใช้กับสัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่ เช่น ม้า วัว ก็ให้ใช้รากสด เปลือกแตงโมสดอย่างละ 250-500 กรัม นำมาต้มกับน้ำให้สัตว์เลี้ยงกิน (ราก)
- ช่วยแก้อาการตัวบวมน้ำ ด้วยการใช้รากสดประมาณ 500 กรัม นำมาลอกเปลือกที่อยู่ระหว่างข้อออก แล้วหั่นเป็นฝอยใส่น้ำ 4 ถ้วยใหญ่ และต้มให้เดือดประมาณ 10 นาที จนให้รากจมน้ำหมด หลังจากนั้นให้แยกเอากากออก ใช้รินกินขณะยังอุ่น ๆ ประมาณครั้งละครึ่งถ้วย วันละ 5-6 ครั้ง และกลางคืนอีก 2-3 ครั้ง กินต่อเนื่องกันจนครบ 12 ชั่วโมง แต่ถ้าหากนำมาใช้สัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่ เช่น ม้า วัว ก็ให้ใช้รากสด เปลือกแตงโมสด อย่างละประมาณ 250-500 กรัม นำมาต้มกับน้ำให้สัตว์เลี้ยงกิน (ราก)
- หญ้าคาช่วยแก้ดีซ่าน ตัวเหลืองจากพิษสุรา ด้วยการใช้รากสดประมาณ 1 กำมือ นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำมาต้มกับเนื้อหมู 500 กรัม และใช้กินแก้อาการ (ราก)
- ช่วยแก้อาการตาเหลือง ตัวเหลือง มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ด้วยการใช้รากนำมาต้มกับน้ำกิน (ราก)
- ใช้เป็นยาห้ามเลือด บาดแผลจากของมีคม (ช่อดอก, ผล, ราก)
- ขน (ดอกแก่) ใช้สดเป็นยาแก้แผลบวมอักเสบ แก้ฝีมีหนอง (ดอก, ขน (ดอกแก่)
- ช่วยแก้ฝีประคำร้อย (ต้น)
- ช่วยแก้ออกหัด ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 30 กรัม ต้มเอาแต่น้ำดื่มบ่อย ๆ (ราก)
- ใบนำมาต้มกับน้ำอาบ ช่วยแก้ลมพิษและผดผื่นคัน (ใบ)
- ใช้แก้พิษจากต้นลำโพง ด้วยการใช้รากสดประมาณ 30 กรัมและต้นอ้อยอีก 500 กรัม นำมาตำและคั้นเอาแต่น้ำมาผสมกับน้ำมะพร้าว 1 ลูก แล้วนำมาต้มกิน (ราก)
- ช่วยแก้ตรากตรำทำงานหนัก มีอาการช้ำใน ด้วยการใช้รากสดและขิงสดอย่างละ 60 กรัม ใส่น้ำผึ้ง 1 ช้อนชาและน้ำ 2 ถ้วย นำมาต้มให้เหลือ 1 ถ้วย แล้วใช้กินวันละครั้ง (ราก)
- ช่วยแก้อาการปวด (ช่อดอก) ในแอฟริกาใช้หญ้าคาเป็นยาแก้อาการปวดบวมในเด็ก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยหลังการคลอดบุตรของสตรี ด้วยการใช้ใบนำมาต้มกับน้ำอาบ (ใบ)
![Image result for หญ้าคา](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEhHlZb-mKsl1eJWF-7DZKJ_0gVfaYcp6omEFsqaHsypMi9xVRaYASMHuq4jUiUFuM4myhOl-yaQZKw71ws65rjnehf5lpjL19RN4WrVRkIkNIz695UrXlFXFlDVExAcJKEHxdr5HzjFBCg/w1200-h630-p-k-no-nu/%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2.jpg)
โทษของหญ้าคา
- หน่อของหญ้าคาแหลมคมมาก ถ้าเดินเข้าไปโดยไม่ระมัดระวัง จะทิ่มแทงฝ่าเท้า ทำให้เกิดความเจ็บปวดได้
- สามารถขึ้นได้ตามพื้นที่รกกร้าง ไร่หรือท้องนา ทำให้ชาวไร่ชาวนาส่วนมากไม่ค่อยชอบ
- เมื่อนำไปมุงหลังคาบ้าน หรือกระท่อม ไม่ค่อยทนทาน และถ้าดูแลไม่ดี อาจจะเกิดอัคคีภัย ก่อให้เกิดความเสียหาย แก่ทรัพย์สินได้